ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ | Humidity Measurement
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ..คลิ๊ก!
◼ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ
◼ การวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ
◼ วิธีการตรวจวัด ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง
◼ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ
ความชื้น (Humidity) คือ ปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ความชื้นของอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความดันและอุณหภูมิ
ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) คือ “อัตราส่วนของปริมาณไอน้ำที่มีอยู่จริงในอากาศ ต่อ ปริมาณไอน้ำที่จะทำให้อากาศอิ่มตัว ณ อุณหภูมิเดียวกัน” หรือ “อัตราส่วนของความดันไอน้ำที่มีอยู่จริง ต่อ ความดันไอน้ำอิ่มตัว” ซึ่งค่าความชื้นสัมพัทธ์แสดงในรูปของร้อยละ (%)
การวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ
การวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสามารถวัดได้จากเครื่องมือ 2 ชนิด คือ
1. ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง
ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง (ดังภาพที่ 1) ประกอบไปด้วย เทอร์มอมิเตอร์สองอัน ถูกยึดติดด้วยปลอกที่แข็งแรงซึ่งสามารถแกว่งหมุนได้ด้วยมือ ด้านหนึ่งคือด้านเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะแห้งวัดอุณหภูมิอากาศ อีกด้านเป็นเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียก (มีไส้ผ้ายึดติดอยู่ที่ส่วนปลายของเทอร์มอมิเตอร์) จะวัดอุณหภูมิอากาศที่ลดลงเมื่อน้ำระเหยออกไป ความแตกต่างของอุณหภูมิของเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะแห้งและเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียกยิ่งมากเท่าไร อากาศจะยิ่งแห้งมากเท่านั้น การหาค่าความชื้นสัมพัทธ์ทำได้โดยอ่านค่าจากตารางความชื้นสัมพัทธ์ที่แนบมาให้พร้อมเครื่องวัด
ภาพที่ 1 ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง
2. ไฮโกรมิเตอร์แบบดิจิตอล
ไฮโกรมิเตอร์แบบดิจิตอล (ดังภาพที่ 2) ใช้งานได้ง่ายและสามารถวัดความชื้นสัมพัทธ์ได้ในช่วงกว้าง ซึ่งเหมาะกับนักเรียนซึ่งไม่สะดวกในการใช้ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง แต่มีข้อจำกัดคือ ราคาจะแพงกว่าและต้องการการดูแลรักษามากกว่าไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง
ภาพที่ 2 ไฮโกรมิเตอร์แบบดิจิตอล
วิธีการตรวจวัด ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง
1. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของเครื่องมือ (ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง หรือไฮโกรมิเตอร์แบบดิจิตอล)
2. ยืนในที่ร่มโดยหันหลังให้ดวงอาทิตย์ แต่อย่าใกล้ต้นไม้หรือตึกจนเกินไป และให้ห่างจากคนอื่นๆ และตู้กำบังเครื่องมืออย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้แกว่งเครื่องมือไปโดนผู้อื่น
3. หยดน้ำสะอาดลงบนผ้าที่หุ้มเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียกให้พอชุ่ม
4. แกว่งไฮโกรมิเตอร์ติดต่อกันด้วยความเร็วเท่าๆ กันเป็นเวลา 3 นาที เพื่อให้เทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียกและกระเปาะแห้งอ่านค่าอุณหภูมิอากาศ
5. ในขณะแกว่งไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก-กระเปาะแห้ง พยายามแกว่งให้ห่างจากตัวเราเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อป้องกันความร้อนจากร่างกายเปลี่ยนแปลงการอ่านอุณหภูมิ ประเด็นนี้สำคัญมากในอากาศหนาว อย่าสัมผัสหรือหายใจรดลงบนเทอร์มอมิเตอร์เช่นกันเพราะจะมีผลต่อการอ่าน
6. ปล่อยเครื่องวัดหยุดหมุนด้วยตัวมันเอง อย่าหยุดด้วยมือหรือวัตถุอย่างอื่น
7. อ่านค่าอุณหภูมิกระเปาะเปียกและกระเปาะแห้ง โดยให้แน่ใจว่าระดับสายตาของเราอยู่ในระดับเดียวกันกับเทอร์มอมิเตอร์ และบันทึกค่าที่อ่านได้
8. อ่านความชื้นสัมพัทธ์โดยการใช้สเกลที่เลื่อนไปมาได้ ซึ่งพบบนเครื่องวัด
Related Product(s)