ก๊าซพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
ก๊าซพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
การได้รับก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย โดยการสูดดม โดยการหายใจ หรือทางผิวหนัง อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและทำให้เสียชีวิตได้ ก๊าซชนิดนี้แบ่งได้เป็น 6 ประเภทคือ
1. ประเภทที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เช่น ไฮโดรเจน ไนโตรเจน คาร์บอนโมนอกไซด์ และ ไฮโดรเจนไซยาไนด์
2.ประเภทที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อีเธอร์ และ คลอโรฟอร์ม
3.ประเภทที่ทำให้ระคายเคืองต่อปอด และทำให้ปอดบวมน้ำ เช่น คลอรีน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ฟอสจีน
4.ประเภทที่ทำให้ระคายเคืองต่อระบบประสาทรับความรู้สึกเช่น ก๊าซน้ำตา ได้แก่ คลอโรอะซีโตฟิโนน และ บรอมเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งทำให้น้ำตาไหล ไดฟีนิลคลอโรอาร์ซีน และไดฟีนิลไซยาโนอาซีน ทำให้เกิดการจาม
5.ประเภทที่สัมผัสผิวหนังทำให้เป็นตุ่มพอง เช่น ก๊าซมัสตาด และก๊าซไนโตรเจนมัสตาด
6.ประเภทที่ทำให้เกิดพิษอื่นๆ เช่น อาร์ซีน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
ก๊าซพิษที่สำคัญ
■ ก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ (Carbonmonoxide)
เป็นก๊าซพิษที่ซึ่งถ้ามีในบรรยากาศร้อยละ 0.35 ทำให้ถึงตายได้ ตัวอย่าง กรณีผู้ขับรถรับจ้างนอนหลับในรถ โดยเปิดเครื่องปรับอากาศรถยนต์ไว้ ทำให้ถึงแก่ความตายโดยไม่รู้สึกตัว สาเหตุมาจากก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์
แหล่งกำเนิด ก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ เกิดขึ่นในกรณีที่ มีออกซิเจนไม่เพียงพอในการเผาไหม้ของสสาร ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ อาจเกิดขึ้นในโรงงานต่างๆ ในท้องถนนขณะที่มีการจราจรติดขัด สำหรับรถยนต์ ที่มีเครื่องยนต์ทำงานเผาไหม้ไม่ปกติ จะเกิดก๊าซบอนโมนอกไซด์ออกมาทางท่อไอเสีย และอาจรั่วเข้าไปในตัวรถได้
ความเป็นพิษ เมื่อหายใจเอาก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์เข้าไปในปอด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และถึงตายได้ จะสังเกตว่าผิวหนังของผู้ได้รับก๊าซพิษเป็นสีชมพู-แดงขึ้น
การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซนี้ ไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ให้ผู้ป่วยนอนราบศีรษะต่ำ ให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ ถ้าหยุดหายใจต้องผายปอดทันที
■ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide)
หรือ”ก๊าซไข่เน่า” เป็นก๊าซพิษชนิดหนึ่ง มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า แหล่งกำเนิดและความเป็นพิษ ก๊าซนี้เป็นผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากโรงงานฟอกหนัง โรงงานผลิตกาว โรงงานผลิตน้ำตาล หรือเป็นก๊าซที่มีในน้ำเสีย น้ำเน่า และสิ่งโสโครก อาการพิษเฉียบพลันของผู้ที่ได้รับก๊าซนี้คือ คลื่นไส้ หายใจขัดต่อเนื่องจากการขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจถึงตายได้ถ้ามีความเข้มข้นสูง
การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซนี้ ช่วยการหายใจ โดยให้ ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 92.5, คาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 7.5 และให้ผู้ป่วยอบอุ่นเสมอ
■ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide)
เป็นก๊าซตามธรรมชาติที่รู้จักกันดี เกิดจาการเผาไหม้ของสารประกอบที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ประโยชน์ใช้ทำน้ำแข็งแห้ง และใช้ในการสังเคราะห์แสงของพืช ก๊าซนี้ถ้ามีมากจนถึงร้อยละ 25-30 ทำให้หายใจช้าลง ความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัว สลบ และอาจถึงตายได้
การแก้ไขเบื้องต้น นำผู้ป่วยที่ออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษ และให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ
■ ก๊าซแอมโมเนีย
เป็นก๊าซที่รู้จักกันดี ใช้ปริมาณเล็กน้อยสูดดมแก้อาการวิงเวียนเป็นลม แหล่งที่มาและความเป็นพิษ ก๊าซแอมโมเนียเป็นผลพลอยได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมจากโรงงานเผาถ่าน ฟอกหนัง และโรงงานน้ำตาล เป็นต้น หรือมีในกองขยะ น้ำเน่า สมัยก่อนใช้ก๊าซแอมโมเนียทำให้เกิดความเย็นในการทำน้ำแข็ง ถ้าได้รับแอมโมเนียปริมาณปานกลางทำให้จาม น้ำตาไไหล แสบคอ ไอมีเสมหะปนเลือ สำลัก หายใจขัด ความดันโลหิตสูง เสียงแหบ ถ้าความเข้มข้นสูง หมดสติทันที และถึงตายได้ ไม่มียาแก้พิษเฉพาะ
■ ก๊าซคลอรีน
เป็นก๊าซชนิดแรกที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีกลิ่นฉุนมาก ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การฟอกสีวัตถุ และ ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เป็นต้น
การแก้พิษเบื้องต้น ไม่มียาแก้พิษเฉพาะ ให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษ ช่วยการหายใจ และทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ
■ ก๊าซน้ำตา
ก๊าซน้ำตาที่ใช้ในการปราบปราม คือ ก๊าซ.คลอโรอะซิโตฟีโนน เป็นพิษต่อเส้นประสาท ตา ทำให้ปวดแสบ น้ำตาไหล ถ้าความเข้มข้นในบรรยากาศสูง ทำให้ปอดบวมน้ำ ถึงตายได้ การแก้พิษเบื้องต้น นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซพิษนี้ ถ้าถูกผิวหนังล้างออกทันทีด้วยน้ำมากๆพร้อมสบู่ ถ้าเข้าตาล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอนเนต 2%