การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนเพื่อระบุปัญหาไฟฟ้า PART II
โดย ชัชวาล กิมเห, Engineer.
สำหรับใน PART II นี้ จะเน้น เรื่องของการตรวจสอบปัญหาโดยใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน เพื่อตัดสินสาเหตุของปัญหา และทำการแก้ไขได้เลย โดยอาจไม่ต้องใช้เครื่องมือวัดเพิ่มเติมมากนัก โดยจะมีตัวอย่างประกอบการพิจารณา (ภาพตัวอย่างบางภาพนำมาจากหนังสือ Handbook ที่มีการวัดในระบุที่ถูกต้องและชัดเจน ที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ต) ดังนี้
ปัญหาความร้อนที่บริเวณปลั๊กไฟ ที่มีการใช้งานอยู่
จากภาพที่แสดง พบว่านี่คือจุดที่ง่ายที่สุด ที่เราจะค้นพบจากการตรวจสอบ และ เป็นหนึ่งในจุดที่ง่ายที่สุด ที่เกิดอุบัติเหตุทั้ง ไฟดูด หรือ ไฟไหม้ ซึ่งสาเหตุมักจะมาจากสายข้างในขาด ทำให้เกิดความร้อนขึ้น เมื่อแกะดูอุปกรณ์ก็จะพบว่าเกิดการไหม้แล้ว ซึ่งหากพบช้ากว่านี้ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงได้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเจอแล้ว วิธีการแก้ก็ไม่ได้ยากนัก คือ เปลี่ยนใหม่ เท่านั้นเอง
ปัญหาความร้อนที่เกิดจากการหลุด หรือ เชื่อมต่อไม่แน่น บริเวณจุดเข้าสาย
จากภาพคือตัวอย่างของมอเตอร์สามเฟส ที่มีเฟสหนึ่งมีการหลุดไปตรงจุดเชื่อมต่อ ซึ่งหากเทียบกับรูปของสายไฟทั้ง 3 เฟสที่เชื่อมต่อกันของตัวอย่างใน PART I เราจะเห็นว่าลักษณะของปัญหาอาจจะคล้ายๆกัน แต่หากวิเคราะห์จริงๆ สาเหตุอาจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จากรูปจะพบว่า มีจุดหนึ่งที่มีความร้อนสูงที่เราสังเกตุจากสีแดงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความต้านทานกระแสสูงบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามในเฟสข้างเคียง ก็มีสีที่แสดงให้เห็นว่ามีความร้อนอยู่เช่นกัน และ ในเฟสที่สาม กลับไม่มีสีที่แสดงความร้อนเลย กรณีนี้ ทางทีมงานอาจจะต้องแก้ปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อไม่แน่น ทั้งสามสาย และ ตรวจสอบอีกครั้งโดยกล้องความร้อน
ปัญหาความร้อนที่เกิดจากการสัมผัส (Contact)
จากภาพเราจะพบว่าฟิวส์เกิดความร้อนขึ้น ซึ่งเราสามารถทำการแก้ไขปัญหาได้อย่างง่ายโดยการเปลี่ยนฟิวส์ แต่จริงๆแล้ว ที่เราสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะ ความร้อนที่เกิดบนฟิวส์ เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว จึงสามารถสรุปได้ว่า ปัญหาอาจจะมาจากเกิดความต้านทานที่สูงบริเวณจุดสัมผัสด้านที่มีความร้อน
หากเกิดความร้อนขึ้นบนฟิวส์ทั้งตัว การวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของปัญหา ก็อาจจะใช้หลักการคนละแบบ เนื่องจาก ปัญหาอาจจะมาจาก กระแสเกิดที่ระบบไฟ หรือ เฟสไม่สมดุลย์ หรือ การใส่ฟิวส์ผิดขนาด ก็เป็นได้เช่นกัน ทั้งนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ใช้เครื่องมือกล้องความร้อนด้วยเช่นกัน
สำหรับ PART I และ II เป็นในส่วนของการตรวจสอบปัญหาทางไฟฟ้าในจุดต่างๆ ซึ่งใน PART III ต่อไป จะเป็นเรื่องของการตรวจสอบแบบ Monitoring ที่ทำให้เราสามารถเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา